ภาวะเส้นเลือดขอดกับการตั้งครรภ์
ผลกระทบของ ภาวะเส้นเลือดขอดกับการตั้งครรภ์ วิธีการป้องกันและบรรเทาอาการเหล่านี้ เพิ่มเติม
ขอบคุณบทความ นพ.ทนงเกียรติ เทียนถาวร แพทย์เฉพาะทางผิวหนังและหลอดเลือดดำ Board certified Dermatologist/Phlebologist
ภาวะเส้นเลือดขอดกับการตั้งครรภ์
คำถามที่พบบ่อยจากคนตั้งครรภ์ ” ดูสิ เส้นเลือดขอดชั้นโป่งหมดแล้ว ฝอยแดงเต็มขาเลย ทำไงดี “
ภาวะเส้นเลือดขอด หรือ ภาวะหลอดเลือดชั้นตื้นผิดปรกติ ( chronic venous insufficiency)นั้น สาเหตุหลักๆมาจาก ความดันในหลอดเลือดดำที่ขามากขึ้น ( venous hypertension) ซึ่งเป็นผลมาจากลิ้นหลอดเลือดดำผิดปรกติ ซึ่งปรกติแล้วภาวะเส้นเลือดขอด มีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่มีเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจนไปถึงเส้นเลือดขอดที่ขดเป็นตัวหนอน ถ้าอาการเป็นมากขึ้น อาจจะมีอาการข้อเท้าบวม มีผื่นผิวหนังคันอักเสบ มีสีดำคล้ำ หนังแข็ง หรืออาจจะจะมีอาการรุนแรงจนเป็นแผลได้
การตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อภาวะเส้นเลือดขอดกันยังไงบ้าง
เมื่อมีการตั้งครรภ์ มดลูกของคุณแม่จะมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุครรภ์ เมื่อมดลูกมีขนาดใหญ่มากขึ้นจะทำให้เกิดการกดทับยังอวัยวะและเส้นเลือดในช่องท้อง ทำให้ความดันในหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลกระทบทำให้ เห็นเส้นเลือด โป่งและมีขาบวมมากขึ้น
นอกจากนั้นในช่วงที่ตั้งครรภ์ จะพบการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่สูงมากขึ้น โดยฮอร์โมนสองตัวนี้จะมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดรวมถึงลิ้นหลอดเลือดมีการขยายตัว กล้ามเนื้อหลอดเลือดทำงานและยืดหยุ่นได้น้อยลง
รวมถึงในขณะตั้งครรภ์นั้นจะมีการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนของเม็ดเลือดแดงรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของการไหลเวียนของเลือด เพิ่มความดันในหลอดเลือดดำที่ขาให้มากขึ้น
นอกจากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะไปกระตุ้นเพิ่มความดันในหลอดเลือดดำที่ขาให้มากขึ้นเลยส่งผลทำให้ ในขณะตั้งครรภ์ คนไข้จะมีอาการของเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นใหม่ หรือในบางรายที่มีภาวะเส้นเลือดขอดอยู่แล้วก็จะมีอาการมากขึ้นได้เช่นกัน ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการทำให้เกิดภาวเส้นเลือดขอดในขณะตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์ในผู้ที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งจากงานวิจัยหลายๆชิ้น บ่งชี้ว่าการตั้งครรภ์ของผู้ที่มีที่อายุมากกว่า 23 ปี จะมีความเสี่ยงที่มากขึ้น รวมถึงจะพบอุบัติการณ์นี้มากขึ้นในรายที่มีการตั้งครรภ์มากกว่าหนึ่งครั้งและผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นเส้นเลือดขอด
อาการของเส้นเลือดขอดในหญิงมีครรภ์ มีอาการได้หลากหลาย เราอาจเห็นเส้นเลือดฝอยขยายตัว และมีสีที่เข้มมากขึ้น.หรือในบางรายเส้นเลือดขอดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาการจะเริ่มเป็นมากขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์สามเดือนแรก
ในบางรายอาจมีกลุ่มเส้นเลือดฝอยที่มีลักษณะเป็นวง หรือ ที่เรียกว่า corona phlebecticaร่วมกับอาการขาบวม ถ้าเกิดการแกะเกา อาจะทำให้เกิดแผล ที่เรียกว่าแผลจากเส้นเลือดดำ (venous ulcer) ได้. อาการเหล่านี้หลังจากคลอดจะค่อยๆจะเลือนหายไปแต่ส่วนใหญ่มักจะหลงเหลืออาการเส้นเลือดขอดมากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์
หากผู้ป่วยรายใด รู้สึกว่ามีอาการเหล่านี้อยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ และรีบทำการรักษาก่อนที่จะตั้งครรภ์ แต่ ในบางครั้งอาการของโรคเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นที่สังเกต และทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะเส้นเลือดขอดอยู่ แต่จะพบเห็นอาการที่มากขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ไปได้ซักระยะหนึ่งแล้ว ในเมื่ออาการเหล่านี้ เป็นอาการเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นควบคู่กับการฝากครรภ์ตามปรกติแล้ว หมอมีคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัว รวมถึงการรักษา ดังนี้ครับ ถ้าในขณะตั้งครรภ์ ถ้ายังต้องทำงานและยืนเป็นเวลานานๆอยู่ ควรจะทำการพักขาประมาณ 15 นาที ในทุกๆชั่วโมงของการยืน. ระหว่างนอนควรยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดย “ไม่’”ควรรองหมอนไว้ใต้ส้นเท้า เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณน่องไม่เกิดการบีบตัวและยิ่งจะเป็นการกระตุ้นอาการให้เป็นมากขึ้นได้
นอกจากนั้นระหว่างตั้งครรภ์ ควรออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อขา โดยควรจะเป็น การออกกำลังกายเบาๆ (soft impact exercise) เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การฝึกโยคะ เป็นต้น
การใส่ถุงน่องเพื่อการรักษา (Medical Compression Stocking) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดขอดอยู่แล้ว เป็นอีกการรักษาหนึ่งที่ควรเริ่มใช้ตั้งแต่รู้ตัวว่ามีการตั้งครรภ์ หรือเริ่มมีอาการที่บ่งชี้ว่ามีภาวะของเส้นเลือดขอดเช่น ขาบวม มีอาการหนักๆที่ขา อาการแสบร้อน เป็นตะคริวบ่อยๆ เป็นต้น
ถุงน่องเพื่อการรักษาสำหรับหญิงตั้งครรภ์ นั้น มีหลายแบบ
ทั้งเรื่องของขนาด ความยาว และระดับความดัน
โดยแบ่งตามความดันที่บริเวณข้อเท้า (ankle pressure) แนะนำให้ใช้ ขนาดความดัน 20-40 มิลลิเมตรปรอท โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
การใส่ถุงน่องนั้นแนะนำให้ใส่ในช่วงเวลากลางวัน หรือ ในช่วงที่มีการยืนหรือนั่งนานๆ. ซึ่งควรใช้ตลอดการตั้งครรภ์ รวมถึงหลังตั้งครรภ์ประมาณ 9 เดือนถึง 1 ปี
ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินอาการและวัดขนาดขา
เพื่อให้ได้ขนาดและความดันที่เหมาะสมกับการรักษาก่อนการเลือกใช้ถุงน่อง
ในบางราย หากมีอาการมาก อาจจะใช้ยากิน กลุ่ม Flavonoids โดยยากินชนิดนี้จะช่วยในเรื่อง อาการปวด บวม อักเสบ โดยควรจะกินติดต่อกันประมาณ 1-3 เดือน จนถึงขณะนี้ยังไม่พบรายงานความผิดปรกติของทารก ในระหว่างการตั้งครรภ์
แต่ไม่แนะนำให้กินในช่วงให้นมบุตร ถึงแม้โดยงานวิจัยยังไม่พบความผิดปรกติเกี่ยวกับการกินยาในช่วงมีการตั้งครรภ์
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงปรึกษา สูติแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสม
การผ่าตัดและการฉีดเส้นเลือดขอดด้วยสารทำลายหลอดเลือดนั้น ไม่แนะนำให้รับการรักษา ระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวมารดาและ ทารกในครรภ์ได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หมอคิดว่าทำได้ไม่ยากใช่มั้ยครับ สรุปง่ายๆ กลางวันใส่ถุงน่อง กลางคืนยกขาสูง. ถ้ามีอาการมากก็ใช้ยากิน
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากผู้อ่านท่านใด เริ่มมีอาการดังกล่าว หรือ มีเส้นเลือดขอดอยู่แล้วและมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือ กำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อชะลอไม่ไห้อาการของโรคเป็นมากขึ้นนะครับ
ขอขอบคุณบทความจาก นพ. ทนงเกียรติ เทียนถาวร แพทย์เฉพาะทางผิวหนังและ หลอดเลือดดำ
Board certified Dermatologist/ Phlebologist
ถุงน่องสำหรับผู้มีภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำที่ขาอืนๆ
ถุงน่องสำหรับผู้มีภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน | |
---|---|
![]() | ![]() |
![]() | ![]() |
![]() |
Leave a Reply